เทคนิคบริหารลูกน้อง จากหัวหน้ามือใหม่

สวัสดีค่ะ บล็อกนี้เขียนแปลกไปกว่าเดิมหน่อยนะ ปกติฝนจะเขียนรีวิวที่เที่ยว ร้านอาหาร ของกิน กิจกรรมต่างๆ แต่จริงๆฝนมีอีกบทบาทหนึ่งคือทำอยู่วงการ Digital agency เนี่ยละ ตั้งแต่จบมาปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 6 เต็มตัว ต้องบอกว่าปีนี้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จากมะก่อนที่ฝนแทบจะทำงานคนเดียว คือคิดเอง ทำเอง ประเมินเอง แต่ปีนี้ต่างออกไปมาก เพราะได้รับอีกบทบาทหนึ่งที่ค่อนข้างท้าทายเลยทีเดียว เพราะไม่เคยทำเลยไม่รู้ว่าตัวเองจะทำออกมาได้ดีรึเปล่า นั่นคือหน้าที่บริหารทีม หรือหัวหน้านั่นเอง

ก่อนหน้านี้ฝนผ่านหัวหน้ามาหลากหลายรูปแบบ บางคนทำงานเก่งมากกกก แต่แทบจะบริหารใจของคนในทีมไม่เป็นเลย คือไม่เคยถามสารทุกข์สุขดิบลูกน้อง ไม่เคยถามว่าทำงานเป็นยังไงบ้าง มีปัญหาไหม ไม่เคยพาไปกินข้าวทีม แต่เรื่องงานยอมรับว่าเก่งจริงไม่มีใครเถียง

หัวหน้าอีกประเภทคือหัวหน้าที่ดูแลใจลูกน้องดีมากๆๆ พาไปกินข้าว ซื้อหนมฝากอะไรฝาก แต่เรื่องงานแทบจะพึ่งพาไม่ได้เลย เมื่อก่อนฝนมีความคิดว่าสงสัยเราคงต้องเลือกละมั้ง ว่าจะเป็นหัวหน้าที่ดี หรือหัวหน้าที่เก่ง จนได้มาทำงานกับหัวหน้าคนหนึ่ง เลยทำให้เปลี่ยนความคิด และเข้าใจได้ว่า เราสามารถเป็นหัวหน้าที่ทั้งดีและทั้งเก่งได้ในเวลาเดียวกัน แค่สวมบทบาทหมวกให้ถูกที่ ถูกเวลา ทำให้เด็กในทีมไว้ใจ แต่ยังเคารพเราอยู่

สิ่งที่ฝนจะแชร์ต่อไปนี้ เป็นเฉพาะจากมุมมองของฝน และการเป็นหัวหน้าในบริษัทปัจจุบันที่ทำงานอยู่ ทุกคนที่เข้ามาอ่านคงเอาไปปรับใช้ได้บางส่วน ต้องดูด้วยว่าเหมาะกับคนในทีม หรือลักษณะขององค์กรหรือเปล่า ฝนก็เป็นหัวหน้ามือใหม่เหมือนกัน หากแนะนำตรงไหนพลาดไป ขออภัยมา ณ ที่นี้นะคะ

8 เทคนิคบริหารลูกน้อง

1. ทำให้ทีม เป็นมากกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน

เทคนิคบริหารลูกน้อง

ปัญหาอันดับต้นๆในการทำงาน ยิ่งเป็นเด็กสมัยใหม่ Gen ใหม่ เค้าไม่ได้ต้องการแค่เพื่อนร่วมงาน เข้ามาตอกบัตร ทำงาน เลิกงาน แยกย้าย เด็กสมัยนี้มองหาอะไรที่มากกว่านั้น มองหาเพื่อน พี่ น้อง ที่สามารถให้คำปรึกษา และสามารถคุยกันเรื่องอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องงานได้ แม้แทบจะดูไม่เกี่ยวกับการทำงานเลย แต่เท่าที่ฝนทำมา ขอคอนเฟิร์มว่าข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญจริงๆ การที่เราต่างคนต่างทำงาน ไม่ได้สื่อสารกัน ไม่ได้รู้จัก Lifestyle หรือนิสัยแต่ละคนในแง่มุมต่างๆ มันทำให้การทำงานแคบลงมากกก และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

แต่หากความสัมพันธ์ในทีมดี แน่นอน อย่างแรกคือ มีปัญหาอะไร สงสัยตรงไหน คนในทีมจะกล้าคุยกันมากขึ้น รวมไปถึงถ้าหากหัวหน้าทำให้ลูกน้องสบายใจในการปรึกษาเรื่องราวต่างๆได้ เราก็จะได้รับการสื่อสารนั้นกลับมาเช่นกัน ฝนเห็นหัวหน้าบางคนสายดุด่า เห็นได้ชัดเลยว่าถ้าลูกน้องมีปัญหาอะไร ลูกน้องจะเก็บเงียบ ไม่กล้าบอก กว่าหัวหน้าจะรู้ งานก็เกือบพัง (หรือพังไปแล้วแบบกู่ไม่กลับ)

ฝนไม่รู้นะว่าสายงานวงการอื่นเค้าเป็นยังไง แต่ถ้าเป็น Digital agency และทีมตัวเอง อย่างที่เห็นคือจะมีเวลาหลังเลิกงานร่วมกันค่อนข้างเยอะ เช่น กินข้าว ดูหนัง โยนโบวล์ คาราโอเกะ มันทำให้เราได้เห็นเพื่อนร่วมงานในมุมมองอื่นๆ และทำให้คนในทีมสนิทกันแบบเห็นได้ชัดมากๆ

2. ทำให้ทีมมีส่วนร่วม

หัวหน้าอาจจะเก่งในเรื่องการตัดสินใจ ความแม่นยำ มองงาน มองปัญหาอาจจะเฉียบขาดกว่าน้องๆ แต่อย่าลืมว่าการให้น้องๆได้แชร์ไอเดีย หรือแสดงความคิดเห็น อาจจะเปิดมุมมองใหม่ๆ หรือวิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆก็เป็นได้ การให้น้องได้มีส่วนร่วมในงานที่ทำ ยังทำให้น้องรู้สึกว่าหัวหน้าไว้วางใจ เชื่อใจ และเห็นตัวเองสำคัญ จริงอยู่ว่าการมีส่วนร่วมบางครั้ง น้องอาจจะทำถูก หรือทำผิดบ้าง ลองประเมินดูว่าถ้าหากความเสี่ยงนั้นไม่ได้มีความเสียหาย (หรืออาจจะเสียหายน้อย) แต่ทำให้น้อง และเราได้เรียนรู้ร่วมกัน ฝนว่าแบบนี้คือคุ้มที่จะเสี่ยง

ถ้าหลังจากที่ทดลองแล้ว มันดีหรือไม่ดี ก็คุยกับน้องเพื่อทำความเข้าใจอีกทีหนึ่ง และที่สำคัญคือต้องทำให้น้องรู้ให้ได้ว่าความทำงานผิดพลาดนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่คือการทำงานผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือผิดในส่วนที่ไม่ควรผิด นั่นเรียกว่าความสะเพร่า

3. รู้จักลูกน้องตัวเอง

บริหารลูกน้องยังไงดี

รู้จักที่นี่ไม่ใช่แค่รู้จักผิวเผินว่า ชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน มาทำงานยังไง แต่ควรเจาะไปถึงลักษณะนิสัย สไตล์การทำงาน จุดแข็ง จุดอ่อนของน้องๆ การใช้เวลาหลังเลิกงานกับน้องๆ หรือสังเกต Lifestyle ของเขา ทำให้เรารู้จักตัวตนและ Background ของเขามากขึ้น ถ้ามี social media ด้วยกันได้ยิ่งดีเลย (แต่อย่าแอดไปแล้วทำให้เขาอึดอัดละกัน 555555)

เมื่อรู้จักลักษณะนิสัยของลูกน้องแต่ละคนแบบจริงๆแล้ว เราจะเข้าใจวิธีการทำงาน ที่มาที่ไปของปัญหาเค้า และสุดท้ายคือทำให้เรารับมือ และรู้จักการพูดกับลูกน้องแต่ละคนมากขึ้น บางคนชอบให้พูดตรงๆ เพราะว่าเข้าใจยาก บางคนต้องพูดอ้อมโลกเพราะ Sensitive แต่การที่จะทำให้น้องยอมเปิดใจให้คุณได้นั้น อยู่ที่คุณแล้วว่าทำให้น้องสบายใจที่จะมีคุณเป็นหัวหน้ามากน้อยแค่ไหน (ไม่ใช่เรื่องของความเก่งอย่างเดียวนะ)

4. Feedback ก็สำคัญ

ใครๆก็อยากรู้ว่างานที่เราทำไปดีหรือไม่ดี หากทำงานไปเรื่อยๆแบบไม่รู้จุดหมายปลายทาง นอกจากจะน่าเบื่อแล้ว เรายังพัฒนาตัวเองไม่ถูกอีกด้วย เปรียบเทียบกับร้านอาหาร ถ้าคุณเปิดร้านอาหาร มีลูกค้าเข้ามา 10 คน ทุกคนสั่งอาหารกินด้วยหน้าตาเฉยๆ ไม่มีใครชม ไม่มีใครว่า เจ้าของร้านคงไม่รู้ว่าตัวเองทำอาหารอร่อยรึเปล่า การทำงานบางครั้ง หัวหน้าต้องเป็นฝ่ายรุกบ้าง ฝ่ายรับบ้าง อย่ารอให้น้องเดินเข้ามาหาอย่างเดียว การเรียกน้องมาคุย feedback ชื่นชม หรืออาจจะ comment งานบางอย่างที่สามารถพัฒนาได้อีก ยิ่งถ้าน้องคนนั้นเป็นคนชอบเรียนรู้ ชอบพัฒนาตัวเอง การที่คอย feedback งานน้องแบบนี้ จะช่วยเพิ่มพลังของน้องได้ดีทีเดียว และยังเพิ่มพลังของหัวหน้าทีมได้ด้วย ตัวคุณเองอาจจะได้ feedback อะไรจากน้องๆ ที่น้องอาจจะไม่กล้าพูดในที่ประชุม เช่น อยากให้พี่ช่วย Training อันนั้นอันนี้, เรื่องนี้หนูว่าเราทำแบบนี้ดีไหม ….? เพราะต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนที่จะชอบเป็นจุดเด่น หรือกล้าพูดในที่ประชุม บางคนอาจจะสบายใจเมื่อได้คุยกันแบบ Private

5. ให้ทั้งงานง่ายและงานยากผสมๆกันไป

งานง่ายๆ ทำให้น้องไม่เครียดเกินไป และทำให้น้องได้เรียนรู้วิธีการทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดัน ไว้ให้เป็นงาน routine ที่ต้องทำเป็นประจำ แต่ถ้าเริ่มเห็นว่าน้องคนไหนมีแวว หรือสามารถ push up เค้าได้ ลองให้งานที่ยากขึ้นดู เช่นการทำ Strategy, การวิเคราะห์, หรือการทำ Report ที่ยากขึ้น แต่หากเป็นการทำครั้งแรกของเขา ให้น้องได้เรียนรู้ แน่นอนว่าครั้งแรกที่น้องทำมาอาจจะไม่ได้ถูกใจเราซะหมด ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้า ต้องคอยสอน คอย Guide คอยคอมเม้น ให้น้องเข้าใจจุดประสงค์หลักของแต่ละหน้า แต่ละงาน แต่ละดีเทล งานยากจะทำให้น้องรู้สึกว่าตัวเองมี Value และได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างาน

บางคนเก่งงานง่ายๆที่ Timeline เร่งรัด บางคนเก่งงานยากๆแต่ต้องใช้เวลานานๆ ในฐานะที่เป็นหัวหน้า พยายามให้น้องทุกคน ได้ทำหลายๆแบบ แล้วค่อยดูว่างานแบบไหนเหมาะกับเค้า แต่ต้องทำให้เค้าเข้าใจว่า บางครั้งในการทำงาน เราก็ไม่ได้ทุกอย่างตามใจคิดไปซะหมด มันจะต้องมีงานที่ไม่ชอบ หรือไม่ถนัดบ้าง แต่นั่นคือ Challenge ที่คุณต้องผ่านมันไป และพิสูจน์กับหัวหน้าคุณให้ได้ ว่าต่อให้จะเป็นงานที่ไม่ถนัด แต่หนูก็ทำมันได้ดีเช่นกัน

6. งานดี กิจกรรมเด่น

หัวหน้าที่ลูกน้องชอบ

ทำงานเหนื่อยแล้ว หากิจกรรมสนุกๆให้ทีมทำร่วมกันบ้าง เช่น กินข้าวทีม, พาไปร้องคาราโอเกะ, เที่ยวต่างจังหวัด, ดูหนัง, โยนโบวล์, ปืนเลเซอร์ เดี๋ยวนี้มีกิจกรรมเยอะแยะให้เลือกสรร จริงๆน้องๆไม่ได้ซีเรียสเรื่องหัวหน้าเลี้ยงอะไรขนาดนั้นหรอก บางคนมีกิจการที่บ้าน รวยกว่าเราซะอีก 5555 แต่การจัดกิจกรรมแบบนี้เป็นประจำ มันทำให้คนสนิทกัน ได้ใช้เวลาร่วมกัน แต่ถ้าจะรอให้ว่างพร้อมกันแล้วค่อยทำกิจกรรม ถ้าเป็นสาย Agency นี่ ต้องบอกว่าฝันไปเถอะ ทางที่ดีคือจัดเป็น calendar รายเดือน รายสองเดือนไปเลย บอกวันเวลาน้องๆล่วงหน้า จะได้เตรียมตัวเคลียร์งาน ถือว่าเป็นกิจกรรมทีมแบบกึ่งๆบังคับหน่อยละกัน เพราะถ้าไม่กึ่งบังคับ ก็จะมีพวกชอบปลีกวิเวก แล้วคนนั้นแหละที่มีโอกาสในการลาออกสูง หรือสนิทกับทีมน้อยลง

7. สังเกตการณ์

การเป็นหัวหน้าที่ดี

หัวหน้าที่ดี ต้องทำตัวเป็นเหยี่ยว และเป็นลาบราดอร์ในเวลาเดียวกัน ต้องคอยสอดส่องดูว่าน้องในทีม ใครดูเครียดๆ ใครดูมีทีท่ากดดัน หรือดูมีปัญหาเรื่องงาน การสอดส่องในที่นี้เราไม่จำเป็นที่จะต้องดูเอง อาจจะฝากให้คนที่เป็น Senior หรือคนที่สนิทกับน้องๆช่วยเป็นหูเป็นตาให้อีกแรง บางทีการที่เราเดินเข้าไปถามเด็กว่า เห็นเครียดๆมีไรให้พี่ช่วยไหม ประโยคนี้นี่ทำให้น้องน้ำตาแตกได้เลยนะ เหมือนได้ปลดล็อกความอึดอัดใจของน้อง และอาจจะทำให้น้องได้ระบายออกมา ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีความกล้าไม่เหมือนกัน บางคนกล้าที่จะเดินเข้ามาบอกว่า ‘พี่ฝน งานหนูมีปัญหาว่ะ’ แต่เด็กบางคน ติดการ Survival ด้วยตัวเอง ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าแก้ไม่ได้ เราเองที่เป็นหัวหน้า ก็แทบเข้าไปช่วยไม่ทันแล้ว

8. อย่ากดดันตัวเองมากไป

เมื่อวันนึงที่ต้องขึ้นมาคุมทีม หรือเป็นหัวหน้า อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป ตอนแรกฝนมีความคิดว่าเด็กทุกคนปั้นได้ เข็นได้ เปลี่ยนแปลงได้ แต่เมื่อทำไปสักระยะ ต้องยอมรับว่ามีบางคนที่เข็นไม่ขึ้นจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของใคร เค้าอาจจะแค่เหมาะกับธุรกิจบางธุรกิจ แต่ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเค้า ครั้งแรกที่ต้องให้น้องไม่ผ่านโปร หรือต้องให้คนออก บอกเลยว่าเป็นความรู้สึกที่กดดัน อึดอัด และรู้สึกแย่มาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำตอบในใจมีเพียงอย่างเดียวคือทำเพื่อให้ทีมดีขึ้น บริษัทแข็งแกร่งขึ้น น้องบางคน เราจบความสัมพันธ์เจ้านาย-ลูกน้อง แต่เรายังเป็น พี่-น้อง กันเสมอ และฝนก็เชื่อว่าน้องทุกคนเข้าใจ

สุดท้ายนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จว่าหัวหน้าที่ดีต้องเป็นยังไง สไตล์แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน บางคนสายประนีประนอม บางคนสายแข็ง สาย Push อยู่ที่ว่าสไตล์ที่เราเลือกมานั้น ต้องทำให้มันเป็นจุดแข็งไม่ใช่จุดอ่อน เช่น ถ้าเราเป็นสายประนีประนอม แล้วไม่หาอะไรมา Balance ก็อาจจะทำให้ทีมอ่อนไป ไม่หนักแน่น เพราะฉะนั้นเราต้องหาการเป็นหัวหน้าแบบ Balance ให้ได้

ใครมีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษ หรืออยากแชร์ประสบการณ์การเป็นหัวหน้า มาเล่าสู่กันฟังได้นะค๊า 

 

Share This!
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Leave a Reply

รีวิวบทความนี้*

Your email address will not be published.